โรคที่ควรระวังจากการดูดบุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้า

โรคที่ควรระวังจากการดูดบุหรี่ไฟฟ้า

ในช่วงนี้เรามักจะได้ยินการพูดถึงบุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างกว้างขวาง และการสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีความเชื่อที่ว่าจะช่วยในการเลิกสูบบุหรี่ได้ และอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนทั่วไป แต่จริงๆ แล้วยังไม่มีการคอนเฟิร์มที่ชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไปแต่อย่างใด 

โดยบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่  ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา ถ้ากล่าวถึงเฉพาะส่วนของน้ำยาที่จะถูกทำให้เป็นไอและเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบจะประกอบด้วยสารประกอบหลัก ๆ คือ  นิโคติน โพรไพลีนไกลคอล กลีเซอรีน และสารแต่งกลิ่นและรส วันนี้จะมาบอกถึงโรคที่ควรระวังจากการดูดบุหรี่ไฟฟ้ากันเลย 

โรคที่ควรระวังจากการดูดบุหรี่ไฟฟ้า

  1. มะเร็งปอด 

ในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารก่อมะเร็งหลายชนิด เช่น สารก่อมะเร็งกลุ่ม Tobacco-Specific Nitrosamines (TSNAs) ที่พบน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป, สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ volatile organic compounds เช่น เบนซีน (benzene), โทลูอีน (toluene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง, สารประกอบคาร์บอนิล หรือ carbonyl compounds เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ และ อะเซทัลดีไฮด์ ซึ่งพบในระดับที่สูงมากในบุหรี่แบบ tank-style with high voltage battery และ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) และ พอลิไซคลิกแอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน (polycyclic aromatic hydrocarbons) ซึ่งสารเหล่านี้ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ 

  1. โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

เพราะในบุหรี่ไฟฟ้ามี โพรไพลีนไกลคอล และกลีเซอรีน หากสูดดมอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองปอดได้ และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหอบหืด เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจทั้งผู้สูบเองและผู้สูดดมรอบข้างด้วย 

  1. โรคหัวใจ

นิโคติน เป็นสารเสพติดที่มีอานุภาพการเสพติดสูง เมื่อมีการสูดไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไป นิโคตินจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว เข้าสู่กระแสเลือดและสมองภายใน 10 วินาที และผู้เสพบุหรี่ไฟฟ้ายังสามารถเพิ่มสารนิโคตินในการสูบแต่ละครั้งได้สูงกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งนอกจากการเสพติดแล้ว นิโคตินยังทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง ความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดสมองหดตัวเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย

เป็นความจริงที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีกลไกการทำงานที่ไม่มีกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ธรรมดา ทำให้ผู้สูบลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัวเช่นน้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแต่จากที่กล่าวมาข้างต้นสารประกอบอื่น ๆ ที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังมีบางงานวิจัยที่ระบุว่า ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดา ทำให้สามารถถูกสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่า อนุภาคที่เล็กนี้จะจับเข้ากับเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วและยากที่กลไกธรรมชาติของร่างกายจะขับออกมาได้

ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าต้องห้าม บุคคลที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในความครอบครอง ถือว่ามีความความผิดทั้งผู้นำเข้า ผู้ขาย และผู้ใช้ เมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็นความผิดซึ่งหน้าสามารถเข้าจับกุมได้  กรณีเป็นผู้นำเข้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจำหน่ายจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้สูบหรือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ถือว่ามีความผิดในฐานครอบครองสิ่งที่นำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ